นรารัตน์

วันพฤหัสบดีที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2555

สมุนไพรที่สามารถนำมาประกอบอาหาร



สมุนไพรคืออะไร
          คำว่า สมุนไพร ตามพระราชบัญญัติหมายความถึง ยาที่ได้จากพืช สัตว์ และแร่ ซึ่งยังมิได้มีการผสมปรุงหรือแปรสภาพ (ยกเว้นการทำให้แห้ง) เช่น พืชก็ยังคงเป็นส่วนของราก ลำต้น ใบ ดอก ผล ฯลฯ ยังไม่ได้ผ่านขั้นตอนการแปรรูปใดๆ เช่น การหั่น การบด การกลั่น การสกัดแยก รวมทั้งการผสมกับสารอื่นๆ แต่ในทางการค้า สมุนไพรมักจะถูกดัดแปลงในรูปแบบต่างๆ เช่น ถูกหั่นเป็นชิ้นเล็กลง บดให้เป็นผง อัดให้เป็นแท่ง หรือปอกเปลือกออก เป็นต้น เมื่อพูดถึงสมุนไพร คนทั่วๆ ไปมักจะนึกถึงเฉพาะพืชที่นำมาใช้ประโยชน์ในทางยา ทั้งนี้เพราะ สัตว์ และแร่มีการใช้น้อย จะใช้เฉพาะในโรคบางชนิดเท่านั้น
ประวัติของการใช้สมุนไพร
          สมุนไพร คือ ของขวัญที่ธรรมชาติมอบให้กับมวลมนุษยชาติ มนุษย์เรารู้จักใช้สมุนไพรในด้านการบำบัดรักษาโรค นับแต่ยุคนีแอนเดอร์ทัลในประเทศอิรัก
          ปัจจุบันที่หลุมฝังศพพบว่ามีการใช้สมุนไพร
          หลายพันปีมาแล้วที่ชาวอินเดียแดงในเม็กซิโก ใช้ต้นตะบองเพชร(Peyate) เป็นยาฆ่าเชื้อและรักษาบาดแผล ปัจจุบันพบว่า ตะบองเพชรมีฤทธิ์กล่อมประสาท
          ประมาณ 4,000 ปีมาแล้ว ที่ชาวสุเมเรียนได้เข้ามาตั้งรกราก ณ บริเวณแม่น้ำไทกริสและยูเฟรติสปัจจุบัน คือ ประเทศอิรัก ใช้สมุนไพร เช่น ฝิ่น ชะเอม ไทม์ และมัสตาร์ด และต่อมาชาวบาบิโลเนียน ใช้สมุนไพรเพิ่มเติมจากชาวสุเมเรียน ได้แก่ใบมะขามแขก หญ้าฝรั่น ลูกผักชี อบเชย และกระเทียม
          ในยุคต่อมาอียิปต์โบราณมี อิมโฮเทป แพทย์ผู้มีชื่อเสียงซึ่งต่อมาได้รับการยกย่องให้เป็นเทพเจ้าแห่งการรักษาโรคของอียิปต์ มีตำราสมุนไพรที่เก่าแก่ คือ Papytus Ebers ซึ่งเขียนเมื่อ 1,600 ปี ก่อนคริสตศักราช ซึ่งค้นพบโดยนักอียิปต์วิทยาชาวเยอรมันนี ชื่อ Georg Ebers ในตำรานี้ได้กล่าวถึงตำราสมุนไพรมากกว่า 800 ตำรับ และสมุนไพรมากกว่า 700 ชนิด เช่น ว่านหางจระเข้ เวอร์มวูด(warmwood) เปปเปอร์มินต์ เฮนเบน(henbane) มดยอบ, hemp dagbane ละหุ่ง mandrake เป็นต้น รูปแบบในการเตรียมยาในสมัยนั้น ได้แก่ การต้ม การชง ทำเป็นผง กลั่นเป็นเม็ด ทำเป็นยาพอก เป็นขี้ผึ้ง
          นอกจากนี้ยังพบว่าชาติต่างๆ ในแถบยุโรปและแอฟริกา มีหลักฐานการใช้สมุนไพร ตามลำดับก่อนหลังของการเริ่มใช้สมุนไพร คือ หลังจากสมุนไพรได้เจริญรุ่งเรืองในอียิปต์แล้ว ก็ได้มีการสืบทอดกันมา เช่น กรีก โรมัน อาหรับ อิรัก เยอรมัน โปรตุเกส สวีเดน และโปแลนด์
          ส่วนในแถบเอเซีย ตามบันทึกประวัติศาสตร์พบว่ามีการใช้สมุนไพรที่อินเดียก่อน แล้วสืบทอดมาที่จีน มะละกา และประเทศไทย
ประวัติการใช้สมุนไพรในประเทศไทย
          ประเทศไทยมีภูมิอากาศที่เหมาะสมต่อการเจริญงอกงามของพืชนานาชนิด โดยเฉพาะพืชสมุนไพรมีอยู่มากมายเป็นแสนๆ ชนิด ทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและจากการเพาะปลูก บางชนิดก็ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตยาแผนปัจจุบัน สมุนไพรหลายชนิด ถูกนำมาใช้ในรูปของยากลางบ้าน ยาแผนโบราณ รากฐานของวิชาสมุนไพรไทยได้รับอิทธิพลจากประเทศอินเดียเป็นส่วนใหญ่ เพราะตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชาติไทยได้อพยพถิ่นฐานมาจากบริเวณเทือกเขาอัลไตน์ประเทศจีน มาจนถึงประเทศไทยในปัจจุบัน จึงมีส่วนได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรม ประเพณี ศาสนา ตลอดจนการบำบัดรักษาโรคจากประเทศอินเดียเป็นจำนวนมาก ซึ่งปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าได้อาศัยคัมภีร์อายุรเวทของอินเดียเป็นบรรทัดฐาน คือ การวินิจฉัยโรค  ชื่อสมุนไพรที่ใช้รักษาโรคมีเค้าชื่อของภาษาบาลีสันสกฤตอยู่ไม่น้อย เช่นคำว่า มะลิ (ภาษาสันสกฤตว่า มัลลิ) เป็นต้น
          มีผู้ประมาณว่าในแต่ละปีมีผู้ใช้สมุนไพรในประเทศเป็นมูลค่ากว่า 500 ล้านบาท (สมุนไพรเหล่านี้ได้มาจากทั้งในประเทศ และนำเข้าจากนอกประเทศโดยเฉพาะ จีน เกาหลี และอินเดีย) ทั้งนี้เนื่องจากป่าไม้ถูกทำลาย ทำให้ต้องมีการรณรงค์ให้มีการปลูกเป็นสวนสมุนไพรขึ้น ในปีพุทธศักราช 1800 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ซึ่งนับเป็นยุคทองของสมุนไพรไทย สวนป่าสมุนไพรของพระองค์ใหญ่โตมากอยู่บนยอดเขาคีรีมาศ อ.คีรีมาส จ.สุโขทัย มีเนื้อที่หลายร้อยไร่ ซึ่งปัจจุบันยังคงได้รับการอนุรักษ์ไว้ เป็นป่าสงวนเพื่อเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าของผู้ที่สนใจ
ต่อมาในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเห็นว่าสมุนไพรเป็นทั้งยาและอาหาร
ประจำครอบครัว ชาติจะเจริญมั่นคงได้ก็ด้วยครอบครัวเล็กๆ ที่มีความมั่นคงแข็งแรง มีสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์ทั้งทางกายและจิตใจ จึงทรงมีพระกรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินโครงการตามพระราชดำริ สวนสมุนไพรขึ้นในประเทศในปีพุทธศักราช 2522 โดยทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการรวบรวมศึกษาค้นคว้า ในเรื่องเกี่ยวกับสมุนไพรทุกด้าน เช่น ด้านวิชาการทางชีววิทยา ทางการแพทย์ การบำบัด การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะพืชที่เป็นประโยชน์ก่อให้เกิดโครงการพระราชดำริ สวนป่าสมุนไพรขึ้นมากมายหลายแหล่ง อีกทั้งยังมีการศึกษาวิจัยอย่างกว้างขวางโดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อหาสาระสำคัญของสมุนไพรที่มีพิษ ทางเภสัชมาสกัดเป็นยาแทนยาสังเคราะห์ที่ใช้กันในปัจจุบัน
คนไทยไม่เพียงแต่ใช้พืชสมุนไพรเป็นยารักษาโรคเท่านั้น แต่ได้นำมาดัดแปลงเพื่อบริโภคในรูปของอาหาร
และเครื่องดื่มสมุนไพร ซึ่งในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะ “สมุนไพรที่นำมาใช้เป็นเครื่องดื่มบำรุงสุขภาพ”
  ชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยนั้นมีรากฐานมานานนับร้อยนับพันปี อารยธรรมต่างๆ ที่ถือเป็นเอกลักษณ์ในการแสดงถึงชาติ แสดงถึงเผ่าพันธุ์ และความเป็นผู้ที่เจริญแล้ว สิ่งหนึ่งที่แสดงออกมาได้เป็นอย่างดีก็คือ ศิลปะที่ผสมผสานและผูกพันอยู่ในการใช้ชีวิตประจำวันของคนไทยนั่นเอง ศิลปะดังกล่าวนี้รวมไปถึงเรื่องการกินอยู่ด้วยอาทิ เช่น การจัดตั้งสำรับ และการประกอบจัดอาหาร ก็ไม่เพียงเพื่อความอร่อยลิ้นอย่างวิเศษเพียงประการเดียว  ยังมีความสวยงามในการจัดแต่งเป็นองค์ประกอบของอาหารให้งามตายิ่งขึ้นไปอีก  จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่เครื่องดื่มของไทยนั้นจะแฝงไว้ด้วยเจตนารมณ์ให้ผู้ดื่มได้ซึมซับทั้งรสชาติและคุณประโยชน์ไปพร้อมๆ  กันอย่างชาญฉลาด
          หากจะสืบสาวถึงความเป็นมาของเครื่องดื่มสมุนไพรก็มีมาตั้งแต่ครั้งสมัยพุทธกาล มีน้ำชนิดหนึ่งเรียกว่า “อัชบาล” หรือ น้ำปานะ ซึ่งพระสงฆ์สามารถฉันน้ำชนิดนี้ได้ตลอดทั้งวันแทนการขบเคี้ยวอาหารหลังมื้อเพลตามบัญญัติของพุทธศาสนา น้ำปานะนี้ใช้สมุนไพร หรือพืชผลชนิดที่มีความเผ็ดร้อน เช่น ขิง ข่า กระทือ ตะไคร้ เป็นต้น ต้มในน้ำร้อนและผสมน้ำตาลทรายแดงให้พอมีรสปะแล่มๆ  ซึ่งต่อมานิยมดื่มกันแพร่หลายมาถึงฆราวาสด้วย
ประโยชน์ของสมุนไพร คือ
          1. ใช้เป็นยาบำบัดรักษาโรค
          2. ใช้เป็นอาหาร
          3. ใช้เป็นเครื่องสำอางค์
          4. ใช้เป็นอาหารเสริมบำรุงร่างกาย
          5. ใช้ขับสารพิษ
          6. ใช้เป็นเครื่องดื่ม
          7. ช่วยส่งเสริมความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ
ประเภทของสมุนไพร
การจำแนกเครื่องดื่มสมุนไพรของไทยตามที่มาและกรรมวิธี นั้นแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ
1. น้ำดื่มธรรมดา ซึ่งใช้ตามประเพณี หรือพิธี ได้แก่
          – น้ำที่นำไปอบด้วย เครื่องหอมได้แก่กระดังงาลนไฟลอยด้วยดอกมะลิหรือกลีบกุหลาบมอญใช้ถวายพระสงฆ์ในงานพิธีตามประเพณี เช่น งานทำบุญเลี้ยงพระ งานประเพณีสงกรานต์ เป็นต้น หรือเป็นน้ำที่ถวายเจ้านายในวังเพื่อใช้เสวยเป็นประจำ
2. น้ำผลไม้ และน้ำดื่มซึ่งเกิดจากการปรุงแต่ง
          -จากน้ำอัชบาล หรือน้ำปานะ อันเป็นเครื่องดื่มของพระสงฆ์ในสมัยพุทธกาลนั้น ในเวลาต่อมาเนื่องจากเมืองไทยเป็นเมืองที่มีพืชพันธ์อุดมสมบูรณ์ และมีผลไม้นานาชนิดที่สลับหมุนเวียนกันตลอดทั้งปี จึงเกิดความนิยมนำเอาพืชสมุนไพรและผลไม้มาทำเป็นเครื่องดื่ม โดยอาศัยการปรุงแต่งรสชาติด้วยการเติมน้ำตาล หรือเกลือบ้าง เพื่อให้เกิดความอร่อยขึ้น อาทิ น้ำมะตูม น้ำกระเจี๊ยบ น้ำมะนาว น้ำใบเตย น้ำตะไคร้ และน้ำใบบัวบก เป็นต้น
แต่เดิมพืชและผลไม้ที่จะนำมาทำเป็นเครื่องดื่มนั้น มักจะเก็บมาสดๆ และใช้ทันที รสชาติที่ทำจึงมีความสด และทรงคุณค่าตามธรรมชาติ มาถึงปัจจุบันนี้เครื่องดื่มได้ถูกประยุกต์ขึ้นต่างรูปแบบ มีการนำวิทยาการสมัยใหม่มาใช้ในการผลิต มีการบรรจุในภาชนะแบบต่างๆ เพื่อความสะดวกต่อการใช้ในชีวิตประจำวัน เครื่องดื่มของไทยนั้นให้ทั้งรสชาติ และคุณประโยชน์ควบคู่กันไป คุณประโยชน์ที่กล่าวถึงคือ สรรพคุณทางยาที่ได้จากพืชผลที่นำมาเป็นเครื่องดื่มนั่นเอง อีกทั้งยังมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายตามธรรมชาติรวมอยู่ด้วย


สมุนไพรที่สามารถนำมาประกอบอาหาร


อาหารพื้นเมืองอีสานมักจะต้องมีส่วนปรุงรส หรือชูรสด้วยผักพื้นบ้านอีสาน ซึ่งมีเอกลักษณ์ทางด้านถิ่นกำเนิด กลิ่นและรสที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ หายากเพราะมีผลผลิตออกมาตามฤดูกาล นอกจากนั้นยังเป็นพืชผักที่ให้คุณค่าทางด้านสุขภาพอนามัย ปลอดสารพิษ ทำให้เป็นที่นิยมกันทั่วไป ไม่ว่าจะทำอาหารประเภทลาบ ก้อย ต้ม แกง อ่อม ล้วนต้องใช้ผักพื้นเมืองเป็นส่วนประกอบทั้งสิ้น
            ในอาหารที่แนะนำให้รู้จักได้กล่าวถึงผักหลายชนิด ท่านอาจจะสงสัยว่า คือผักอะไรกันแน่ มีสรรพคุณอย่างไร เรามารู้จักกันหน่อยดีกว่า

1. ผักหอมเป หรือ ผักชีฝรั่ง (Stink Weed) มีคุณค่าทางอาหารมาก นำไปกินใบสดหรือใช้เป็นส่วนประกอบในอาหาร ประเภทต้ม ลาบ ก้อย ป่น เพื่อดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ ส่วนคุณค่าทางยา จะได้วิตามินหลายชนิด เช่น วิตามิน ซี, บี 1, บี 2, ไนอาซีน และเบต้า-แคโรทีน ซึ่งเป็นสารเริ่มต้นของการสร้างวิตามินเอ



2. ตะไคร้ (Lemon grass) มีคุณค่ากับอาหารไทยมานานแล้ว ใส่ในต้มยำ แกงต่างๆ หรือจะหั่นฝอยใส่ยำ ใส่หม่ำ เพิ่มกลิ่นหอม เพิ่มรสชาติและดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ คุณค่าทางยา จะช่วยลดการบีบตัวของลำไส้บรรเทาอาการปวดท้อง ลดอาการจุกเสียด แน่นท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ ใช้หัวนำมาคั่วไฟกินแก้ขับปัสสาวะ แก้ขัดเบา แก้นิ่วในระยะแรกๆ แก้ปัสสาวะหยด และยังใช้ใบมาย่างไฟให้เหลือง แก้อาการปวดท้อง ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ บรรเทาอาการร้อนใน ริมฝีปากแห้ง
ตะไคร้หอม บางท้องถิ่นเรียก ตะไคร้แดง เพราะลำต้นสีแดง สรรพคุณแก้ริดสีดวง เป็นแผลในปาก ริมฝีปากแตก ร้อนในกระหายน้ำ สตรีมีครรภ์กินมากไม่ได้ กินแก้ขับเลือดเสีย ขับลมในลำไส้ ใช้ทาตามแขน ขา มือ เท้าป้องกันยุงและแมลงรบกวนได้ดี
3. สะระแหน่ (Kitchen mint) เป็นผักที่มีกลิ่นดี หอมเย็น เป็นผักกินสดๆ วิตามินจึงไม่ลดลงไปเพราะการใช้ความร้อน ใช้โรยหน้าต้มยำ ลาบ ก้อย คุณค่าทางอาหารและทางยาให้ความสดชื่น ความคิดแจ่มใส ตากแห้งผสมกับใบชาชงเป็นชาหอมได้ มีเบต้า-แคโรทีน และวิตามินซีสูง
4. ผักขะแยง (Balloon vine) ผักที่มีกลิ่นรสหอมฉุน ใช้ปรุงรสอาหารโดยเฉพาะแก่งอ่อมกบ แกงหน่อไม้ คุณค่าทางยา คั้นน้ำจากต้นแก้ไข้ ทั้งต้นเป็นยาขับน้ำนม ขับลมและเป็นยาระบาย มีวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด

5. ชะอม (Cha-om) ช่วยเพิ่มรสชาติให้อาหาร กินยอดอ่อนทั้งสดและลวก ยอดอ่อนแกงกับหน่อไม้ หรือทอดใส่ไข่จิ้มน้ำพริก คุณค่าทางยา แก้ท้องเฟ้อ ขับลมในลำไส้ แก้ปวดเสียวในลำไส้ มีเส้นใยอาหาร ป้องกันโรคหัวใจขาดเลือด และมีเบต้า-แคโรทีนสูง รากใช้ฝนกับน้ำหรือเหล้าขาวแก้ขับลมในกระเพาะอาหาร ท้องอืดเฟ้อ
6. ข่า (Greater galangal) เป็นพืชล้มลุก มีลำต้นอยู่ใต้ดินเรียกว่า เหง้า ใช้ประกอบอาหารช่วยดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ เป็นเครื่องแกง อาหารไทยหลายชนิดใช้ข่าเป็นเครื่องปรุงหลัก เช่น ต้มข่าไก่ แกงเผ็ด แกงเขียวหวาน คุณค่าทางยาในเหง้าจะมีน้ำมันหอมระเหยต่างๆ ทำให้ช่วยขับลม ท้องอืดท้องเฟ้อ ขับเสมหะ ใบใช้ตำพอกหรือทาโรคผิวหนัง หิด กลาก เกลื้อน ถ้าหญิงคลอดลูกใหม่ๆ เลือดขัดให้ใช้หัวข่าสดมาบดผสมน้ำมะขามเปียกและเกลือแกง บีบคั้นเอาแต่น้ำ ประมาณชามแกงย่อมๆ ให้ดื่มจนหมด จะช่วยขับเลือดเสียและทำให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น

7. ขิง (Ginger) เป็นพืชล้มลุก มีแง่งใต้ดินแตกแขนงคล้ายนิ้วมือ เนื้อในสีเหลืองแกมเขียว มีส่วนประกอบของน้ำมันหอมระเหยและสารจากธรรมชาติ นิยมนำมาทำอาหารทั้งคาวหวาน เช่น ไก่ผัดขิง ใบใช้กินกับซุปหน่อไม้ ส้มตำ หัวผสมกับกระชายทำน้ำยาขนมจีน หรือนำมาต้มทำน้ำขิงใส่น้ำตาล คุณค่าทางยา ช่วยระบบทางเดินหายใจ เป็นหวัดคัดจมูก แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด ขับลม ช่วยบรรเทาอาการไอ ลดโคเลสเตอรอล
เหง้าขิงแห้ง เป็นยาจำพวกอายุวัฒนะ บำรุงร่างกาย หัวใจ ไฟธาตุ ขับลมในลำไส้ให้ตด (ผายลม) ออกมา แก้ร้อนในกระหายน้ำ ช่วยย่อยอาหาร แก้ลมพรรดึก แก้อาการปวดท้อง คลื่นเหียนอาเจียน แก้บิดมีตัว บิดมูกเลือก แก้อุจจาระเป็นฟองเหลือง ขับละลายก้อนนิ่ว ตำรับยาแผนโบราณใช้แก้ลมพานไส้ แน่นหน้าอก นอนไม่หลับ โรคปากเปื่อยฯ





8. กระชายหรือโสมไทย (Chinese Deys) นิยมใช้แต่งรสชาติอาหาร เช่น แกงป่า ผัดเผ็ด แกงส้มเนื้อ น้ำยาขนมจีน ถือว่าเป็นเครื่องเทศอย่างหนึ่ง กระชายมี 3 ประเภท เช่น กระชายดำ กระชายแดง กระชายเหลือง ที่ใช้ประกอบอาหารคือ กระชายเหลือง คุณค่าทางยาเชื่อว่ามีสรรพคุณคล้ายโสมบำรุงกำลัง เพิ่มสมรรถภาพทางเพศ เช่น กระชายดำ ซึ่งเป็นที่กล่าวขานกันมากในปัจจุบัน อาจจะเรียกว่าโสมไทย จะมีน้ำมันหอมระเหยสรรพคุณดับกลิ่นคาว ทำให้กระเพาะลำไส้เคลื่อนไหวดี สรรพคุณทางยาของกระชาย ถ้าใช้หัวปรุงแก้อาการปากเปื่อย ปากเป็นแผล ปากแตกแห้ง ร้อนในกระหายน้ำ แก้ปวดท้อง จุกเสียด แก้บิดมูกเลือด บำรุงกำลัง บำรุงน้ำดีฯ
9. บัวบก (Indian penny wort) กินได้ทั้งต้นเป็นผักสดหรือลวกกินกับอาหารเช่น ป่น ลาบ แจ่ว นำไปประกอบอาหารอื่นเช่น แกงหวาย ยำกับปลาแห้ง คุณค่าทางยา นำมาต้มกินแก้ฟกช้ำ ลดอาการอักเสบได้ ทำเป็นครีมลบรอยแผลเป็น รักษาแผลในกระเพาะอาหาร ช่วยผ่อนคลายทำให้ความจำและสมองทำงานได้ดี
10. ผักหวานป่า (pagwan pa) เป็นผักพื้นบ้านมีบางฤดู ส่วนที่นำมาปรุงเป็นอาหารได้คือ ยอดอ่อนและใบอ่อน เช่น แกงเลียง แกงจืดใส่หมูบะช่อ แกงใส่ปลาย่าง ผัดใส่หมู หรือผัดไฟแดง คุณค่าทางยาเพราะมีใบสีเขียวจึงมีวิตามิน เกลือแร่และเบต้า-แคโรทีนมาก
11. ผักกระเฉด (Water mimosa) คุณค่าทางอาหารกินสดกับขนมจีน หรือน้ำพริกกะปิ ยำกระเฉด หรือผัดไฟแดง ใส่แกงส้ม คุณค่าทางยา ถ้ากินสดจะได้ วิตามินบี, วิตามินซี เบต้า-แคโรทีน ไนอาซีนและเกลือแร่ต่างๆ
12. เสี้ยน (ดอง) (pagsian, Capparidaceae) นิยมนำมาดองเค็มหรือดองเปรี้ยวกินกับป่น หรือแจ่ว คุณค่าทางยาแม้จะผ่านการดองแล้วแต่ปริมาณเบต้า-แคโรทีน ซึ่งเป็นสารเริ่มต้นของวิตามินเอยังสูงอยู่ และมีวิตามินแร่ธาตุอื่นๆ อีก
13. มะขาม (Tamarind) สรรพคุณ เป็นยาระบาย แก้อาการท้องผูก แก้ไอ และแก้หวัดคัดจมูก มีวิตามินซี ช่วยให้ ฟันและเหงือกแข็งแรง และทำให้ผิวพรรณดี [ อ่านเพิ่มเติม ]
14. กะถิน ยอดและฝักใช้กินเป็นผักสด แก้ร้อนในกระหายน้ำ ช่วยให้เจริญอาหาร บำรุงหัวใจ เมล็ดแก่ กินแก้ขับลม ขับระดูในสตรี บำรุงไตและตับ แก้อาการนอนไม่หลับ เป็นยาอายุวัฒนะ แต่มียูริกสูงต้องห้ามสำหรับคนเป็นโรคเก๊าท์
15. กะเพรา ใช้ใบดอกประกอบอาหาร เพิ่มรสชาด สรรพคุณทางยาบำรุงธาตุ แก้ปวดท้อง ท้องขึ้น แก้ลมตาล ลมทรางในเด็ก ใช้ปรุงผสมกับสมุนไพรอื่นๆ เป็นยาเขียว ยาลมธาตุ ยาแก้กษัย ส่วนรากใช้ฝนใส่ฝาหม้อดินผสมกับสุราขาวหยอดใส่ปากเด็กโต 3-5 ขวบขึ้นไป ช่วยไล่ลมในกระเพาะ ลำไส้ แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ
16. กระเทียม ใช้ปรุงอาหารต่างๆ ช่วยให้มีกลิ่นเผ็ดร้อน ชวนรับประทาน ใช้หัวสดตำทาแก้โรคผิวหนัง เช่น เกลื้อน กลาก ตลอดจนเม็ดผดผื่นคันตามตัวทั่วไป ปรุงผสมสมุนไพรอื่นๆ ช่วยแก้ริดสีดวงทวาร ริดสีดวงลำไส้ ขับลมในกระเพาะ เป็นยาระบายอ่อนๆ ช่วยให้นอนหลับง่าย แก้โรคหืด
17. ขี้เหล็ก ใบอ่อนนำมาต้มจนเปื่อย หมดรสขม นำมาแกงใส่อุ้งตีนวัว หรือหนังวัว/ควายตากแห้ง ปิ้งไฟทุบให้นุ่ม ใส่น้ำใบยานาง บางคนก็ชอบกะทิใส่ลงไปแซบอีหลีเด้อสิบอกให่ สรรพคุณทางยา แก่นต้นขี้เหล็กนั้นแก้ธาตุพิการ อาหารไม่ย่อย บำรุงธาตุไฟแก้หนองในและกามโรคในบุรุษ ราก แก้ไข้หัวลม อากาศเปลี่ยนฤดู แก้ปวดเมื่อย เหน็บชา แก้กษัย บำรุงไต ดอก แก้โรคประสาทอาการนอนไม่หลับ แก้หอบหืด บดผสมน้ำฟอกผมบนศรีษะขจัดรังแค เปลือก แก้ริดสีดวงทวาร ริดสีดวงลำไส้ แก้โรคเบาหวาน สมานแผลให้หายเร็ว ใบแก่ แก้ถอนพิษ ถ่ายพิษ กามโรค ตำพอกที่แข้งขา มือเท้าที่มีอาการบวมเนื่องจากเหน็บชา ดับพิษร้อนถอนพิษไข้ พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย กิ่ง-ใบ ทำเป็นยาระบายถ่ายพิษ ขับเสลดในคอ แก้ไข้จับสั่น (มาลาเรีย) ฯ
18. แคขาว แคแดง ยอดใบ ดอกและฝักเรานำมากินเป็นผัก นึ่งใส่ปลา ลวกจิ้มแจ่ว แซบแท้ๆ และยังเป็นยาแก้ท้องเดิน ท้องร่วง สมานแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ แก้บิด มูกเลือด แก้ไข้หัวลม เปลือกต้นแคนั้นมีสรรพคุณทางยาแก้ร้อนในกระหายน้ำ ขับเสมหะในลำคอ ใช้ฝนเอามาทาแผลเปื่อย แผลสดได้ผลดี ส่วนใบนำมาตำพอกแผลสดเพื่อสมานเนื้อให้หายเร็ว
19. ตำลึง ใบตำนิน (ก็ว่า) ใบเป็นผักใช้ทำอาหารได้หลายอย่างทั้ง ผัด ลวก นึ่ง หรือจะใส่ในแกงก็อร่อย มีสรรพคุณทางยาดังนี้ ใบ ใช้ตำหรือบดผสมแป้งดินสอพอง พอกแผล ฝี ช่วยบีบรีดหนองให้แตกออกมา เพื่อให้แผลฝีหายเร็ว ใช้ใบปรุงกับสมุนไพรอื่นๆ เป็นยาเขียว ยาเย็น แก้ขับอาการร้อนในและพิษไข้ให้ตัวเย็นลง หรือนำใบไปตำทาตามผิวหนังแก้ผด ผื่นคัน เถา ใช้ตัดมาคลึงให้นิ่ม บีบเอาน้ำภายในออกมา หยอดตา แก้ตาฝ้า ฟาง ตาแดง ตาแฉะ มีขี้ตามาก ราก แก้ตาเป็นฝ้า ติดเชื้อ ดับพิษปวดแสบปวดร้อนในตา บำรุงธาตุเจริญอาหาร บำรุงหัวใจ บำรุงดี ทำให้ระบบขับถ่ายสะดวก รักษาโรคลำไส้และกระเพาะอาหาร ผลสุก มีสีแดงเป็นยาบำรุงร่างกายฯ
20. มะเขือเทศ อีสานบ้านเฮามักเอาใส่ตำบักหุ่ง (แซบอีหลี) ให้วิตามินซี แก้เลือดออกตามไรฟัน (ลักปิดลักเปิด) หากกินสม่ำเสมอจะทำให้ไม่เป็นมะเร็งในลำไส้ แก้โรคนอนไม่ค่อยหลับ หรือมักนอนผวา สะดุ้ง หรืออาการตกใจง่ายๆ
21. มะละกอ หรือหมากหุ่ง หรือบักหุ่ง ผลไม้สารพัดประโยชน์ในด้านอาหารของชาวอีสาน จะแห้งแล้ง อุดมสมบูรณ์ ถ้ามีหมากหุ่งละก็รอดตายเลย ใช้ทำส้มตำรสแซบ แกง หรือผัด ผลสุกกินเป็นของหวาน ตัดเป็นชิ้นๆ ลงในต้มเนื้อจะทำให้เนื้อเปื่อยง่าย เร็ว สรรพคุณทางยา ราก รสฉุนเอียนใช้แก้โรคหนองใน ขับเลือด หนองในกระเพาะปัสสาวะ บำรุงไต ก้านใบ มีสรรพคุณเช่นเดียวกัน กับทั้งฆ่าพยาธิในลำไส้และในกระเพาะอาหาร แก้โรคมุตกิต ระดูขาว เหง้า ตรงที่ฝังดินมีรากงอบโดยรอบ ใช้ทำยาขับและละลายเม็ดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะได้ผลดี
22. มะระ ผักไห่ หรือหม่านอย ตามท้องถิ่น คนจีนเรียก โกควยเกี๊ยะ สรรพคุณทางยา ยอดและใบอ่อน แก้โรคปวดตามข้อ ตามกระดูก ที่เรียกว่า รูมาติซั่มและเก๊า แก้อาการร้อนในกระหายน้ำ เมล็ด ฆ่าพยาธิในลำไส้ เป็นยาระบายอ่อนๆ ระลายพิษต่างๆ ให้ออกทางปัสสาวะและอุจจาระ ขับฤดูเสียในสตรี บำรุงดี ตับและม้าม ยอดมะระ ใช้แก้อาการเจ็บคอ ดับพิษร้อนถอนพิษไข้ ในปัจจุบันวงการแพทย์ไทยได้วิจัยค้นพบว่า สามารถใช้แก้โรคเอดส์เบื้องต้นได้ ทำให้เม็ดผื่นคัน แผลในร่างกายไม่ลุกลาม ทำให้กินได้นอนหลับ มีกำลังดีขึ้น
23. มะรุม ผักอีฮุม นำฝักอ่อนมาแกงใส่ปลาอร่อยนักแล สรรพคุณทางยา เปลือก ถากมาต้มน้ำกินเป็นยาช่วยขับลมในกระเพาะและลำไส้ บำรุงธาตุ ราก รสเผ็ด หวานขม ใช้แก้อาการบวมน้ำ บำรุงธาตุไฟ เจริญอาหาร ยอดและฝักอ่อน ช่วยให้เจริญอาหาร แก้ไข้หัวลม (เปลี่ยนฤดู) ช่วยย่อยอาหาร



24. สะเดา (Neem Tree) เป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ส่วนที่ใช้ประโยชน์ คือ ก้านใบ ผล เปลือก เมล็ดและราก มียอดใบอ่อนให้กินตลอดปีใช้เป็นอาหาร เป็นต้นไม้ที่แมลงไม่ชอบ จึงเป็นยาปราบศัตรูพืช ยอดของสะเดามีเบตา-แคโรทีนมากช่วยลดน้ำตาลในเลือด และใช้ประโยชน์ทางยาได้มากมาย
25. ขมิ้นชัน (Turmeric, Curcuma) เป็นพืชล้มลุกที่มีอยู่เหง้าอยู่ใต้ดิน มีประโยชน์ในการช่วยดับกลิ่นคาว มีสารสีเหลืองชื่อ เคอร์คูมิน (Curcuma) ฤทธิ์ทางยาแก้ปวดท้อง มีฤทธิ์ช่วยกระตุ้นการหลั่งน้ำดี รักษาอาการนิ่วในถุงน้ำดี รวมทั้งโรคกระเพาะ
26. พริก (Chilli) เป็นพรรณไม้พุ่มขนาดเล็ก ผลใช้เป็นยา ปรุงอาหาร ช่วยเจริญอาหารรักษาอาการอาเจียน โรคหิด ปอดบวม โดยใช้ผลพริกทำเป็นขี้ผึ้งทา
27. คึ่นไช่ (Celery) เป็นพรรณไม้ล้มลุกกลิ่นหอมทั้งต้น ส่วนที่ใช้ประโยชน์ได้แก่ ต้น เมล็ด ราก สรรพคุณทางยา ต้นลดความดัน รักษานิ่ว ปัสสาวะเป็นเลือด เมล็ดขับลมและระงับปวด รากใช้รักษาอาการปวดตามข้อและขับปัสสาวะ
28. ใบยานาง คนที่รู้จัก "ใบย่านาง, ใบยานาง" ส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นคนภาคอีสาน หรือชอบกินอาหารอีสาน เพราะใบย่านางมักถูกใช้เป็นส่วนประกอบหนึ่งของแกงหน่อไม้ และซุปหน่อไม้ คงมีหลายคนที่ชอบกินแต่คงไม่ทราบว่าน้ำสีออกดำๆ เขียวๆ ที่อยู่ในซุปหน่อไม้ หรือแกงหน่อไม้นั้นได้มาจากน้ำของ "ใบย่านาง" นั่นเอง
 แม้ว่าสีของน้ำใบย่านางนั้นอาจจะดูไม่ค่อยน่ากินสักเท่าไร แต่น้ำจากใบย่านางนั้นจะช่วยทำให้หน่อไม้ดองมีกลิ่นหอมและมีรสชาติกลมกล่อม เพราะช่วยกำจัดกลิ่นเปรี้ยวและรสขมออกไป ทำให้อาหารจานนั้นแซบนัวหลายๆ หรือหากจะนำยอดอ่อนใส่ในแกงต่างๆ ก็เพิ่มความอร่อยได้ด้วยเช่นกัน


            นอกจากความเเซบแล้ว ใบย่านางยังมีสรรพคุณในการช่วยถอนพิษ แก้ไข้และลดความร้อนในร่างกายได้ อีกทั้งยังเป็นพืชที่ให้แคลเซียมและวิตามินซีค่อนข้างสูง และยังให้สารอาหารอื่นๆ เช่น ฟอสฟอรัส เหล็ก และวิตามินเอ วิตามินบี 1 บี 2 และเบต้า-แคโรทีน หากกินทั้งใบก็จะมีเส้นใยมาก ส่วนรากของใบย่านางช่วยถอนพิษ แก้ไข้ แก้เมารถ เมาเรือ แก้โรคหัวใจและแก้ลมได้ด้วย ขอแถมให้อีกนิด หากนำน้ำใบย่านางมาสระผม จะช่วยทำให้ผมดกดำ ชลอผมหงอกได้อีกต่างหาก
29. ดาวเรือง (Marigold flower) เป็นไม้ดอกไม้ประดับ นอกจากมีความสวยงาม ยังมีสารแคโรทีนอยด์ ที่เป็นประโยชน์ช่วยบำรุงสายตา รักษาสภาพผิวพรรณ ฯลฯ
30. สาบเสือ (Bitter, bush, Siam weed) เป็นไม้ล้มลุก ส่วนที่ใช้ประโยชน์ทั้งต้นและใบ มีกลิ่นหอมใช้เป็นยาฆ่าแมลงได้
31.กากเมล็ดชา ชาเป็นพรรณไม้ขนาดย่อมถึงกลาง ส่วนใช้ประโยชน์ได้แก่ ใบ ดอก ผล ใบอ่อน กากชา กากเมล็ด ใช้เป็นยา มีสารซาโปนิน คุณสมบัติล้างสิ่งต่างๆ ใช้สระผม ชำระสิ่งสกปรก เส้นผมชุ่มชื่นเป็นมัน
32. ชุมเห็ดเทศ (Ringworm Bush) เป็นพรรณไม้ขนาดกลาง ส่วนที่ใช้ประโยชน์ได้แก่ ต้น ใบ ดอก ฝัก เมล็ด และราก ใช้เป็นยาขับพยาธิ รักษาผิวหนัง กลากเกลื้อน รักษาหูด ขับปัสสาวะ
33. ดอกดึง (Climbing Lily) เป็นพรรณไม้เถาชนิดหนึ่ง ลำต้นเกิดจากหัวหรือเหง้า ส่วนที่ใช้ประโยชน์คือเหง้า มีฤทธิ์ในการบำบัดโรคปวดข้อ โรคเก๊า ฯลฯ
34. หนอนตายยาก เป็นพรรณไม้ล้มลุก รากมีสารกำจัดแมลง เช่น หนอนผีเสื้อ หนอนกระทู้ แมลงวันทอง นำมาสกัดหรือบดแล้วพ่น



ที่มา   http://www.isangate.com/local/food_06.html



















ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น