นรารัตน์

วันพุธที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2555








สมุนไพรพื้นบ้าน




      พืชสมุนไพร หมายถึง พืชที่ใช้ทำเป็นยารักษาโรค โดยใช้ส่วนต่างของพืชชนิดเดียวหรือหลายชนิดพร้อมกัน พืชสมุนไพรเป็นกลุ่มพืชที่อยู่ในความสนใจ และมีผู้ศึกษาทางด้านพฤกษศาสตร์พื้นบ้านมากที่สุด ยารักษาโรคปัจจุบันหลายขนานที่ผลิตเป็นอุตสาหกรรม ได้มาจากการศึกษาวิจัยการใช้พืชสมุนไพรพื้นบ้านของกลุ่มชนพื้นเมืองตามป่าเขาหรือในชนบท ที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษที่ได้สังเกตว่าพืชใดนำมาใช้บำบัดโรคได้ มีสรรพคุณอย่างไร จากการเรียนรู้ด้วยประสบการณ์ และการทดลองแบบพื้นบ้านที่ได้ทั้งข้อดีและข้อผิดพลาด



กระชาย 
สรรพคุณทางยา ใช้ขับลม ช่วยย่อย แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียดแน่ แก้อาการปวดมวนในท้อง ขับระดูขาว ขับปัสสาวะ บำรุงหัวใจ ในกระชายประกอบด้วย วิตามินเอ วิตามินบี 2 และ แคลเซียม


การนำไปใช้ นิยมใส่ในแกงที่ใช้เนื้อสัตว์กลิ่นคาว เช่น ปลา เนื้อวัว หรือใช้เป็นเครื่องปรุงเพิ่มความหอม เช่น ใส่ในผัดเผ็ด แกงป่า ทำเป็นน้ำยาของขนมจีนน้ำยา


กระเพรา 
สรรพคุณทางยา ป้องกันโรคขาดเลือด ขับน้ำดี ช่วยย่อยไขมัน แก้จุกเสียด ในกะเพราประกอบด้วย เบต้า-แคโรทีน แคลเซียม ธาตุเหล็ก เส้นใยอาหาร และฟอสฟอรัส


การนำไปใช้ ใส่ต้มยำโป๊ะแตกเพื่อช่วยดับกลิ่นคาวจากเนื้อสัตว์ทะเล ใส่ผัดกะเพรา ทอดกรอบแนมกับทอดมัน หรือใส่ในส่วนผสมทอดมัน และแกงป่า


โหระพา สรรพคุณทางยา ช่วยย่อยอาหาร แก้อาการจุกเสียด แน่นท้อง ในโหระพาประกอบด้วย วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินซี แคลเซียม ธาตุเหล็ก เส้นใยอาหาร ฟอสฟอรัส และเบต้า-แคโรทีน


การนำไปใช้ นิยมใส่ในแกงกะทิ แกงเขียวหวาน แกงเผ็ด หรือใส่ในผัดอย่างหอยลายผัดน้ำพริกเผา นอกจากนี้ยังนิยมกินสดกับลาบ ก้อย น้ำตก และใส่เป็นผักต้มในอาหารอีสานอย่างแจ่วฮ้อน ส่วนอาหารเวียดนามนิยมกินสดแนมกับแหนมเนือง หรือใส่เป็นไส้ผักในเปาะเปี๊ยะเวียดนาม และก๋วยเตี๋ยวเวียดนามที่เรียกว่า เฝอ ในก๋วยเตี๋ยวไทยก็นิยมด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะก๋วยเตี๋ยวเรือ


หอมแดง 
สรรพคุณทางยา ขับลม ขับปัสสาวะ ขับเสมหะ ขับประจำเดือน แก้ไข้ แก้หวัด ช่วยย่อยอาหาร เจริญอาหาร ในหอมแดงประกอบด้วย เซเลเนียมเป็นเกลือแร่ที่ทำหน้าที่เป็นตัวประสานการทำงานของเอนไซม์ระหว่างวิตามินดี เอ และซี


การนำไปใช้ ใส่ในยำ ลาบ พล่า เป็นส่วนผสมในน้ำพริกแกงต่างๆ หรือซอยบางๆ เจียวให้กรอบโรยหน้าขนมหม้อแกง และใส่ในน้ำปลาหวาน ราดไข่ลูกเขย หรือน้ำปลาหวานกินกับสะเดาลวกและปลากดุกย่าง


สะระแหน่ 
สรรพคุณทางยา น้ำคั้นจากต้นและใบดื่มแก้ปวดมวนในท้อง แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับลม หรือกินสดเพื่อดับกลิ่นปาก ขับเหงื่อ นอกจากนี้ยังช่วยฆ่าเชื้อ ระงับอาการเกร็งของกระเพาะอาหารและลำไส้ ในสะระแหน่ประกอบด้วย วิตามินเอ วิตามินบี 2 วิตามินซี แคลเซียม และ ธาตุเหล็ก


การนำไปใช้ มักกินเป็นผักสดโดยใส่ในยำ ลาบ พล่า น้ำตก


พริกไทยอ่อน 
สรรพคุณทางยา ช่วยย่อยอาหาร ขับลม ขับเหงื่อ ลดความร้อนในร่างกาย เป็นยาอายุวัฒนะ


การนำไปใช้ มักใส่ในอาหารที่ใช้เนื้อสัตว์กลิ่นคาว ใส่คู่กับกระชาย เช่น แกงป่า ผัดเผ็ด และใส่เป็นเครื่องปรุงน้ำพริก เช่น น้ำพริกพริกไทยอ่อน


ข่า 
สรรพคุณทางยา เป็นยาขับลมในลำไส้ แก้บิด ท้องอืด โรคหืด ขับเสมหะ และโรคหลอดลมอักเสบ ในข่าประกอบด้วย วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 แคลเซียม เส้นใยอาหาร และฟอสฟอรัส


การนำไปใช้ มักใส่ในอาหารประเภทต้ม เช่น ต้มยำ ต้มข่า ต้มแซบ หรือน้ำซุปก๋วยเตี๋ยว ทั้งก๋วยเตี๋ยวเป็ด ก๋วยเตี๋ยวเนื้อ ใช้เป็นเครื่องปรุงในการต้มพะโล้ขาหมู บ้างก็นำมาโขลกละเอียดใส่ในลาบ เช่น ลาบปลาดุก ลาบหมู คนจีนมักนำข่ามาโขลกละเอียดผสมเต้าเจี้ยวกินกับข้าวต้มปลาและที่ขาดไม่ได้คือเป็นส่วนผสมในน้ำพริกแกงต่างๆ


แมงลัก 
สรรพคุณทางยา เป็นยาขับลมในลำไส้ แก้ปวดซางในเด็ก แก้ไอ บำรุงน้ำนม แก้โรคผิวหนัง เลือดออกตามไรฟัน และเป็นยาระบาย ในแมงลักประกอบด้วย วิตามินบี 2 วิตามินซี แคลเซียม ธาตุเหล็ก และเส้นใยอาหาร


การนำไปใช้ กินเป็นผักสดแนมกับขนมจีน ใส่ในแกงเลียง แกงอีสาน เช่น แกงเห็ด แกงหน่อไม้


ตะไคร้ 
สรรพคุณทางยา ใช้เป็นยาทาแก้ปวด เช่น โรครูมาติซัม อาการปวดตามบั้นเอว ช่วยย่อยอาหาร ขับปัสสาวะอย่างอ่อน ขับเหงื่อ แก้ตกขาว อาเจียน ลดความดันโลหิต ขับลม แก้ไข้ ปวดท้อง โรคทางเดินปัสสาวะ นิ่ว และอาการปวดเกร็ง ในตะไคร้ประกอบด้วย วิตามินเอ แคลเซียม ธาตุเหล็ก เส้นใยอาหาร และฟอสฟอรัส


การนำไปใช้ ใส่ในอาหารประเภทต้มยำ พล่า เช่น ต้มยำ ต้มแซบ หรือต้มกับน้ำให้มีความหอมเพื่อลวกอาหารทะเล เช่น หอยแครง หอยแมลงภู่ กุ้ง ปลาหมึก นอกจากนี้ยังซอยเฉียงเบาๆ แล้วทอดกรอบคลุกกับน้ำปรุงรสใช้โรยหน้าอาหารประเภทเนื้อปลาทอด เช่น ปลาทอดตะไคร้ ที่ขาดไม่ได้คือใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องปรุงน้ำพริกแกงต่างๆ


มะกรูด 
สรรพคุณทางยา ผสมมะกรูดช่วยขับลม แก้จุกเสียด แก้ลมวิงเวียน น้ำมะกรูดแก้เลือดออกตามไรฟัน ในมะกรูดประกอบด้วย เบต้า-แคโรทีน วิตามินเอ วิตามินบี 2 วิตามินซี แคลเซียม และโปรตีน


การนำไปใช้ ใช้ได้ทั้งผลมะกรูดและใบมะกรูด การใช้ผสมมะกรูดจะปอกเอาแต่ผิวเปลือกใส่เป็นส่วนผสมในน้ำพริกแกงต่างๆ น้ำมะกรูดใช้ปรุงรสเปรี้ยวในแกงเทโพ แกงส้ม เพราะมีกลิ่นหอม รสเปรี้ยวอมหวานกลมกล่อม ถ้าผ่าครึ่งผลตามขวางทั้งเปลือกมักใส่ในแกงเทโพ น้ำพริกน้ำยาของขนมจีน ใบมะกรูด ใช้ใส่ต้มยำ ต้มข่า ต้มแซบ หรือซอยโรยหน้าห่อหมก ฉู่ฉี่ พะแนง และใส่เป็นส่วนผสมทอดมัน


กระเทียม 
สรรพคุณทางยา มีฤทธิ์ลดความดันโลหิต ลดระดับไขมัน คอเลสเตอรอลและน้ำตาลในเลือด ในกระเทียมประกอบด้วย เซเลเนียม ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่ทำหน้าที่เป็นตัวประสานการทำงานของเอนไซม์ระหว่างวิตามินอี เอ และซี


การนำไปใช้ ใส่ในผัดต่างๆ เช่น ผัดผักบุ้ง ผัดกะเพรา หรือสับละเอียดแล้วเจียวให้เหลืองใส่ในข้าวต้ม แกงจืด นำไปผสมกากหมูเจียวใส่เป็นเครื่องแต่งกลิ่นในก๋วยเตี๋ยวต่างๆ หรือนำมาโขลกกับรากผักชีและพริกไทยเป็นเครื่องหมักอาหาร เช่น ผสมกับเนื้อหมูบนใส่ในแกงจืด หมักเนื้อไก่ที่จะย่าง และเป็นส่วนผสมในน้ำพริกแกงต่างๆ









ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น